กรณีศึกษา : กรณีตัวอย่างสารดับเพลิงไพโรเจน ธนาคารไทยพาณิชย์ (สำนักงานใหญ่)
เผยแพร่เมื่อ: 18/05/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารุญ เกตุสาคร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
Meet the Academic: กรณีศึกษาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยซีรีส์...,
“เรื่อง เราเรียนรู้อะไร...จากเหตุการณ์รั่วไหลสารดับเพลิงไพโรเจน กรณีตัวอย่างสารดับเพลิงไพโรเจน ธนาคารไทยพาณิชย์ (สำนักงานใหญ่)”
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 21.30 น. ได้เกิดเหตุการณ์สารดับเพลิงไพโรเจนทำงานโดยอัตโนมัติทั้งที่ไม่มีการเกิดเพลิงไหม้แต่อย่างใด ทำให้ผู้รับเหมาที่เข้าไปทำงานภายในห้องใต้ดินชั้น B2 ซึ่งเป็นห้องเก็บเอกสารสำคัญของธนาคารเสียชีวิตจำนวน 8 ราย และบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 7 ราย นับว่าเป็นเหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมากและเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้ และต่างก็ตั้งประเด็นคำถามต่าง ๆ มากมายว่า ไพโรเจน(Pyrogen) คืออะไร ระบบการทำงานของสารดับเพลิงชนิดนี้เป็นอย่างไร ทำไมถึงทำงานขึ้นได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ทำไมธนาคารไทยพาณิชย์จึงนำระบบดังกล่าวมาใช้กับห้องเก็บเอกสาร และอันตรายของสารตัวนี้เมื่อระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกันในประเด็นแต่ละข้อกันเลยนะครับ
ภาพที่ 1 : ระบบดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจน(Pyrogen)
Ξ ประเด็นแรก : ไพโรเจน (Pyrogen) คืออะไร ?
ไพโรเจน (Pyrogen) เป็นชื่อทางการค้า (Trade Name) ของสารดับเพลิงความจริงแล้วสารดับเพลิงชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “Self-Generated Aerosol Fire Extinguishing Agent” ซึ่งสารดับเพลิงนี้ไม่นำไฟฟ้า (Non-Conductive) ภาชนะบรรจุเป็นถัง สะดวกในการติดตั้ง ใช้พื้นที่น้อย ทำงานโดยการฉีดสารดับเพลิงออกมาได้ตัวเอง เป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสารหนึ่งที่นำมาทดแทนฮาลอน โดยสารที่ฉีดพ่นออกมานั้นประกอบด้วยโปรตัสเซียมคาร์บอเนตซึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และไอน้ำ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสารที่ฉีดออกมามีทั้งที่เป็นอนุภาคและก๊าซที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ เราจึงเรียกสารที่ฉีดออกมาจากถังระบบดับเพลิงลักษณะนี้ว่า แอโรซอล (Aerosol) นั่นเอง
Ξ ประเด็นที่สอง : ระบบการทำงานของสารดับเพลิงชนิดนี้เป็นอย่างไร ?
ตามหลักการทำงานของสารดับเพลิงไพโรเจนจะต้องมีชนวนสำหรับจุดติดไฟของถังดับเพลิงแอโรซอลอยู่ 3 แหล่งด้วยกันคือ
1) มีอุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับควัน ความร้อน เปลวเพลิง เป็นต้น เป็นอุปกรณ์เริ่มสัญญาณเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังแผงควบคุม (Control Panel) และแผงควบคุมจะส่งสัญญาณไปตามสายไฟเพื่อจุดชนวนที่ถังแอโรซอล
2) เกิดจากเปลวเพลิงหรือความร้อนที่มีอุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 175 oC ไปจุดติดกับชนวนของถังสารดับเพลิงแอโรซอล
3) ถังสารดับเพลิงแอโรซอลได้รับความร้อนที่มีอุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 500 oC
เมื่อถังสารดับเพลิงแอโรซอลได้รับความร้อนจนถึงจุดที่ตั้งไว้หรือได้รับสัญญาณมาจากแผงควบคุมซึ่งภายในถังแอโรซอลจะบรรจุ Solid Aerosol Compound ซึ่งประกอบไปด้วยโปรตัสเซียมไนเตรต ไนโตรเซลลูโลส และคาร์บอนซึ่งทั้งสามตัวอยู่ในสถานะที่เป็นของแข็งเมื่อได้รับสัญญาณจุดติดไฟจากแผงควบคุมจะทำให้เกิดปฏิกิริยาการเผาไหม้ภายในถังบรรจุ (Combustion Chamber) ดังสมการ
ก่อนที่สารแอโรซอลจะถูกฉีดพ่นออกมาดับเพลิง ในถังแอโรซอลจะมี Chemical Coolant ทำหน้าที่ในการดูดซับความร้อนคือการเกิดปฏิกิริยาดูดความร้อน (Endothermic Reaction) และยังทำให้สารที่ถูกฉีดออกมานั้นมีลักษณะการกระจายตัวที่สม่ำเสมอด้วย (Uniform Distribution) ดังนั้น ระบบการดับเพลิงโดยใช้สารแอโร ซอลจึงเป็นระบบที่ตัดองค์ประกอบการเกิดไฟ คือ ตัดความร้อน นั่นเอง ไม่ได้ทำให้ปริมาณสัดส่วนของออกซิเจนในอากาศลดลงแต่อย่างใด ส่วนสารที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในอากาศลดลง คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาการเผาไหม้ ดังนั้น สารดับเพลิงไพโรเจนจะทำงานได้นั้นต้องเข้าข่าย 3 ประเด็นตามที่ไว้ข้างต้น ซึ่งประเด็นข้อที่ 2) และ 3) นั้นมีความเป็นไปได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับข้อที่ 1) คือ มีอุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับควัน ความร้อน เปลวเพลิง เป็นต้น เป็นอุปกรณ์เริ่มสัญญาณเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังแผงควบคุม (Control Panel) และแผงควบคุมจะส่งสัญญาณไปตามสายไฟเพื่อจุดชนวนที่ถังแอโรซอล เพราะว่าในวันที่เกิดเหตุมีผู้รับเหมาเข้าไปทำงานในห้องดังกล่าวซึ่งไม่แน่ใจได้ว่าการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้รับเหมาทำให้เกิดการตรวจจับของอุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติหรือไม่ เช่น เกิดควัน ฝุ่น จากกิจกรรมการทำงาน เมื่อเกิดควัน ฝุ่น หรืออนุภาคอื่น ๆ ในปริมาณที่อุปกรณ์เริ่มสัญญาณอัตโนมัติสามารถตรวจจับได้(ซึ่งอุปกรณ์ตรวจจับคิดว่ามีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นแต่ในความเป็นจริงไม่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้) จึงได้ส่งสัญญาณไปยังแผงควบคุมจะไปเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าเพื่อทำหน้าที่จุดชนวนเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจนให้เกิดปฏิกิริยาและทำงานขึ้น ดังนั้น เมื่อสารดับเพลิงไพโรเจนทำงานขึ้นเพื่อการดับเพลิงทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ป้องกัน (Total flooding) จึงทำให้ผู้รับเหมาที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวสูดดมโปรตัสเซียมคาร์บอเนตซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งเข้าสู่ร่างกาย และคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และไอน้ำซึ่งทำให้ขาดอากาศหายใจได้
Ξ ประเด็นที่สาม : จุดเด่นของระบบดับเพลิงแอโรซอล
ข้อดีของระบบดับเพลิงแอโรซอล อาทิ ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ไม่นำไฟฟ้า ใช้พื้นที่น้อยในการติดตั้ง เป็นต้น
Ξ ประเด็นที่สี่ : แนวทางการแก้ไขเชิงป้องกัน
สำหรับแนวทางการป้องกันการเกิดซ้ำสำหรับสถานประกอบการหรืออาคารต่าง ๆ ที่มีการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติดังกล่าวและบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต้องมีการดำเนินการเชิงป้องกันโดยต้องจัดให้มีการดำเนินการดังนี้
1) การปฏิบัติงานในห้องที่มีการติดตั้งระบบดับเพลิงแบบอัตโนมัติชนิดที่ไม่ใช้น้ำเป็นส่วนประกอบในการดับเพลิงต้องมีการตัดระบบการทำงานของระบบดับเพลิงอัตโนมัติดังกล่าวก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกครั้ง และให้เลือกใช้วิธีการควบคุมความเสี่ยงด้านอัคคีภัยด้วยอุปกรณ์ชนิดอื่นแทน เช่น เครื่องดับเพลิงมือถือ เพื่อเป็นการป้องกันการทำงานของระบบดับเพลิงอัตโนมัติดังกล่าวจากความไม่ตั้งใจ
2) ต้องมีระบบการขออนุญาตการทำงาน (Permit to Work) และต้องปฏิบัติตามระเบียบ/ขั้นตอนการทำงาน (Procedure/Work Instruction)
3) มีผู้ควบคุมงานที่มีความเข้าใจและสามารถคาดการณ์อันตราย ตระหนัก ประเมิน และควบคุมอันตรายจากการทำงานได้
4) ผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานปกระกอบกิจการรวมถึงผู้รับเหมาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการทำงานเบื้องต้นของระบบดับเพลิงอัตโนมัติต่าง ๆ เช่น ระบบดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจน ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
5) ต้องมีการบ่งชี้อันตรายให้ครอบคลุมทุกปัจจัยอันตรายในการทำงานและประเมินความเสี่ยงจากการทำงานเพื่อใช้สำหรับการวางแผนป้องกัน ควบคุม ลดความเสี่ยงจากการทำงาน